นิยามคำศัพท์หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
พุทธศักราช ๒๕๖๐
คำศัพท์ / ความหมาย
1. หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุแรกเกิดถึง ๖ ปีบริบูรณ์ โดยมุ่งหวังพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และถือเป็นกรอบทิศทาง หรือแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการจัดการศึกษาปฐมวัย
2. หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
หลักสูตรที่เกิดจากการที่สถานศึกษานำสภาพต่างๆ ที่เป็นปัญหา จุดเด่น/เอกลักษณ์ของชุมชน สังคม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มากำหนดเป็นปรัชญาการศึกษาปฐมวัย วิสัยทัศน์ ภารกิจหรือพันธกิจ เพื่อนำไปออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยความร่วมมือของทุกคนในสถานศึกษาและชุมชนสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีการระดมทรัพยากรทั้งของสถานศึกษาและชุมชนมาใช้อย่างคุ้มค่า และใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่
3. ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
เป็นอุดมการณ์ ความเชื่อ ความศรัทธาในความคิดทางการศึกษาปฐมวัยที่ทำให้สถานศึกษาและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความคิดนั้นๆ
4. วิสัยทัศน์
คำอธิบายเกี่ยวกับความคาดหวังที่เป็นไปได้ของสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยกำหนด เพื่อเป็นทิศทางในการวางแผนจัดการศึกษาปฐมวัย ออกแบบหลักสูตรการจัดประสบการณ์ และการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ตามเวลาที่กำหนด
5. มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์
คุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวเด็กทั้งด้านความดี มีปัญญา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในแต่ละระดับอายุ คือ อายุ ๓ - ๔ ปี อายุ ๔ - ๕ ปี และอายุ ๕ - ๖ ปี
6. ตัวบ่งชี้
เป้าหมายในการพัฒนาเด็กที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการประเมินพัฒนาการเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
7. สภาพที่พึงประสงค์
พฤติกรรมหรือความสามารถตามวัยที่คาดหวังให้เด็กเกิด บนพื้นฐานพัฒนาการตามวัยหรือความสามารถในแต่ละระดับอายุ
8. เด็กปฐมวัย เด็กซึ่งมีอายุตํ่ากว่า ๖ ปีบริบูรณ์ และให้หมายความรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา สำหรับในเอกสารคู่มือฉบับนี้ (เอกสารคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สำหรับเด็กอายุ ๓ - ๖ ปี) หมายถึง เด็กอายุ ๓ - ๖ ปี
9. สถานศึกษา
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
10. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองเด็กซึ่งมีเด็กปฐมวัยอยู่ในความคุ้มครองดูแลหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมทั้งโรงเรียน หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน หรือสถาบันศาสนาที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย
12. การศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
การศึกษาที่จัดขึ้นสำหรับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ การศึกษาทางด้านศาสนา ดนตรี นาฏศิลป์ กีฬา การศึกษาส่งเสริมความเป็นเลิศด้านต่างๆ หรือการศึกษาสำหรับผู้พิการ ด้อยโอกาส ผู้บกพร่องด้านต่างๆ และรวมทั้งการศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวและองค์กรต่างๆ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มุ่งส่งเสริมให้เด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนี้ ได้รับการศึกษาปฐมวัยอย่างเสมอภาพ และมีคุณภาพ
13. การประเมินจากสภาพจริง
กระบวนการสังเกต การบันทึกและการรวบรวมข้อมูลจากการปฏิบัติกิจกรรมประจำวันตามสภาพความเป็นจริง
14. สารนิทัศน์
ข้อมูลหลักฐานหรือร่องรอยพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ การจัดทำสารนิทัศน์ เป็นการจัดทำข้อมูลที่จะเป็นหลักฐาน แสดงให้เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
15. บูรณาการ
รูปแบบการจัดกิจกรรมหนึ่งกิจกรรมที่เด็กเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ หรือหนึ่งแนวคิดที่เด็กเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม
16. ประสบการณ์สำคัญ
ช่วยอธิบายให้ผู้สอนเข้าใจว่าเด็กปฐมวัยต้องทำอะไร เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไร ช่วยแนะผู้สอนในการสังเกต สนับสนุน และวางแผนการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดความรู้หรือทักษะที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
17. พัฒนาการ
การเปลี่ยนแปลงด้านการทำหน้าที่และวุฒิภาวะของอวัยวะและระบบต่างๆ รวมทั้ง ๒ ตัว ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสิ่งที่ยากสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะใหม่ๆ และความสามารถด้านการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมทางกายภาพในบริบทต่างๆ
18. พัฒนาเด็กโดยองค์รวม
การพัฒนาเด็กอย่างสมดุลทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
19. พัฒนาการด้านร่างกาย
ความสามารถของร่างกาย ในการทรงตัวในอิริยาบถต่างๆ การเคลื่อนไหว การเคลื่อนที่โดยการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ เช่น การนั่ง ยืน เดิน วิ่ง กระโดด การใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ และการใช้ตาและมือประสานกันในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การหยิบ การจับของ การขีดเขียน การปั้น การประดิษฐ์ เป็นต้น ขอบข่ายพัฒนาการด้านร่างกายในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกอบด้วย นํ้าหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ มีสุขภาพอนามัย สุขนิสัยที่ดี รักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่ว ประสานสัมพันธ์ และการทรงตัวได้ ใช้มือกับตาประสานสัมพันธ์
20. พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ
ความสามารถในการรู้สึกและแสดงความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ รัก ชอบ โกรธ เกลียด กลัว และเป็นสุข ความสามารถในการแยกแยะและควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ขอบข่ายพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกอบด้วย การแสดงออกทางอารมณได้เหมาะสม มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น สนใจ มีความสุข และแสดงออกผ่านงานศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว ซื่อสัตย์สุจริต เมตตากรุณา มีนํ้าใจ ช่วยเหลือแบ่งปัน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ
21. พัฒนาการด้านสังคม
ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม คือ สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตน ร่วมมือกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ ความเป็นตัวของตัวเอง และรู้กาลเทศะ สำหรับเด็กหมายความรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นพัฒนาการด้านสังคมยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ คุณธรรม และเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา ทำให้รู้จักแยกแยะความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และความสามารถ ในการเลือกดำรงชีวิตในทางสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วยขอบข่ายพัฒนาการด้านสังคมในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกอบด้วย การช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีวินัยในตนเอง ประหยัดและพอเพียง ดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมารยาทตามวัฒนธรรมไทยและรักความเป็นไทย ยอมรับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างบุคคล มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และปฏิบัติตนในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
22. พัฒนาการด้านสติปัญญา
ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ กับตนเอง การรับรู้ การสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ จดจำ วิเคราะห์ การรู้คิด รู้เหตุผล และ ความสามารถในการสืบค้น แก้ปัญหา ตลอดจนการสังเคราะห์ ซึ่งเป็นความสามารถเชิงสติปัญญาในระดับสูง ซึ่งแสดงออกด้วยการใช้ภาษาสื่อความหมายและการกระทำ ขอบข่ายพัฒนาการด้านสติปัญญาในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกอบด้วย สนทนาโต้ตอบและเล่าเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจอ่านเขียนภาพและสัญลักษณ์ได้ มีความสามารถในการคิดรวบยอด การคิดเชิงเหตุผล การคิดแก้ปัญหา และตัดสินใจ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีความสามารถในการแสวงหาความรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น